คุณค่าของสุนทรียศาสตร์
สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม และความไพเราะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องการ จริง ๆ แล้ว สุนทรียะยังหมายรวมถึงคุณสมบัติที่สามารถรับรู้ของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจพึงปรารถนา นอกจากความสวยและความงามที่ใช้ดูด้วยตาเป็นสื่อ ยังมีความไพเราะที่ต้องฟังด้วยหู กลิ่นหอมที่ต้องดมด้วยจมูก รสชาติที่ต้องชิมด้วยลิ้น การสัมผัสที่จะต้องใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องใช้จิตใจเป็นความรู้สึกในการรับรู้
สุนทรียะจะต้องมีสื่อเพื่อที่จะช่วยให้คนได้รับรู้ ปราศจากสื่อก็คือการปราศจากการรับรู้ ไม่มีสื่อเสียแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะชื่นชมงานศิลปะใด ๆ ได้ คนตาบอดไม่สามารถชื่นชมความสวยงามได้ฉันใด คนหูหนวกก็ไม่สามารถชื่นชมเสียงดนตรีที่ไพเราะฉันนั้น
ดนตรีเป็นสุนทรียะที่เกี่ยวข้องกับเสียง ดนตรีเกี่ยวข้องกับความไพเราะ เมื่อพูดถึงดนตรีแล้วก็หมายถึงความไพเราะ แต่ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นความไพเราะของใคร เพราะว่าแต่ละคนรับรู้ความไพเราะที่แตกต่างกันคนละระดับกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน คนจึงฟังดนตรีกันหลากหลายต่างชนิดกัน ชื่นชอบเพลงไม่เหมือนกัน
ความรู้สึกของคำว่า “รักคุณเท่าฟ้า” ทุกคนรู้โดยรวม ๆ ว่าฟ้านั้นกว้าง แต่ความกว้างของฟ้าของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฟ้าเป็นโลกทัศน์ของแต่ละคน ฟ้าเป็นความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งใหญ่และฟ้าเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นละเอียดอ่อน
ทุกคนรู้สึกว่า “เหงา” อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้ คำว่า “เหงา” ของบางคนมีความหมายเล็กเกินไปกว่าความเหงาจริง เพราะรู้สึกว่าเราเหงามากกว่านั้น เหงา…เหงา…เหงา… จะเขียนอีกสักกี่ตัว คำหรือภาษา ก็ยังเล็กไปสำหรับความรู้สึกที่มีความเหงา…จริง
ความรู้สึกปีติ ความอิ่มเอิบ ความภูมิใจ เมื่อได้พบกับความสวยงาม ความงาม ความไพเราะ ได้พบกับบรรยากาศ รสนิยม และคุณค่าที่ดี ความรู้สึกปีติเป็นพลังกายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับจิตใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นคนไปดูหนังผี เป็นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จริงแล้วคนดูหนังได้เตรียมตัวกลัวผีไปจากบ้านแล้ว ถ้าหนังผีสามารถสร้างความกลัวให้กับผู้ชมได้ถึงใจ คือ สร้างให้ผู้ชมเกิดความกลัวได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ถ้าหากว่าภาพยนตร์ไม่สามารถทำให้ผู้ชมกลัวได้ คือไม่น่ากลัว หนังผีเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เพราะหัวใจของหนังผีก็คือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ชม
ดนตรีในความหมายของสุนทรียศาสตร์
ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ของดนตรีเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับเสียงลักษณะและคุณภาพของเสียง หนา-บาง สูง-ต่ำ ดัง-เบา สั้น-ยาว เล็ก-ใหญ่ ฯลฯ แหล่งกำเนิดเสียง คุณสมบัติของเสียง ศาสตร์เป็นความรู้ที่สามารถสืบทอดการเรียนรู้โดยการอ่านบอกเล่า ถ่ายทอดสู่กันฟัง การสืบค้นคว้าจากหลักฐานต่าง ๆ ความรู้สามารถคิดหาเหตุผลมาประติดประต่อได้ ความรู้สามารถเรียนรู้ได้โดยการจดจำ ท่องบ่น ทบทวน และที่สำคัญก็คือความรู้สามารถเรียนทันกันหมด ความรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
การ ทรงจำดนตรี เอาไว้โดยการท่องบ่นแบบนกแก้วนกขุนทอง เป็นแต่เพียงคุณค่าของศาสตร์เท่านั้น การท่องบ่นเป็นการทำซ้ำ ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ขาดความมีชีวิตชีวา รวมทั้งความรู้รอบ ๆ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง กิตติศัพท์ เกียรติคุณ เป็นแต่เพียงแต่องค์ประกอบนอกเหนือดนตรีทั้งสิ้น
สุนทรียะเป็นเรื่องของศิลป์ ดนตรีเป็นศิลปะของการเรียบเรียงเสียง นำเอาเสียงที่มีความสูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนา-บาง ดัง-เบา มาต่อกันโดยอาศัยความรู้ การนำเสียงมาต่อกันให้มีศิลปะ จึงจะเกิดเป็นความไพเราะขึ้น ถ้านำเสียงเอามาต่อกันแล้วไม่มีศิลปะก็ไม่เป็นดนตรี กลายเป็นเสียงอื่น ๆ ไป
ความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นสุนทรียะ สืบทอดโดยการเล่าสู่กันฟังอย่างความรู้ไม่ได้ อ่านความไพเราะไม่ได้ ท่องจำความไพเราะไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ความไพเราะของดนตรีจะต้องสัมผัสด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์ตรงเท่านั้น
การสัมผัสความไพเราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะคนไม่เกี่ยวกับวัย ไม่เกี่ยวกับวุฒิ ไม่เกี่ยวกับปัญญา ไม่เกี่ยวกับปรัชญา แต่ความไพเราะอยู่นอกเหนือปรัชญาและปัญญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น