วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาชาวบ้าน

1        แนวคิดสองกระแส

ในช่วงที่เพิ่งผ่านมานี้ ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีวิธีคิดแบบแยกส่วน เน้นความเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค ขาดความสนใจผู้คนและชุมชนที่ถือเป็นฐานรากของประเทศ แม้ว่าวัฒนธรรมนี้ได้วางรากฐานทางวัตถุแก่โลกนานัปการ โลกที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลกลับเล็กลงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ประชากรแทบทุกส่วนในโลกสามารถติดต่อและได้รับผลกระทบซึ่งกันและกัน   จนโลกปัจจุบันมีสภาพไร้พรมแดน หรือโลกาภิวัฒน์ (Globalization)
แต่อีกด้านของความเติบโตทางวัตถุก็ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล และที่สำคัญคือ ผู้คนได้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ไร้ศักดิ์ศรี และรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะถูกตัดขาดจากกันทางสังคม ทำให้เกิดแนวคิดอีกกระแสหนึ่งขึ้นเรียกว่า กระแสชุมชนท้องถิ่น (Localization) ที่ให้ความสำคัญแก่คนและชุมชนในการกำหนดแนวทางการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมของตน เพื่อให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความหมาย มีค่าและมีศักดิ์ศรี เป็นแนวคิดที่มองทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม
ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศ อันเป็นผลจากการปะทะกันระหว่างแนวคิดสองกระแสดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมของเรา  การนำเสนอประสบการณ์ของชาวบ้านและชุมชนในทุกส่วนของประเทศที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาบนพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมได้เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนแนวคิดและแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ จนกระทั่งแนวคิดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเคยเป็นกระแสรองมาก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน
การนำแนวคิดใหม่มาใช้ในการพัฒนาประเทศ จะเกิดขึ้นไม่ได้ภายใต้การกฎเกณฑ์ และกติกาการพัฒนาประเทศแบบเก่า ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขระเบียบกฏหมายของประเทศเพื่อให้สอดรับกับทิศทางใหม่นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เห็นได้จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ..2540 ที่กำหนด

ให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของตนเอง และการปฏิรูปการศึกษา ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของชาวบ้านและชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (..2540-2544) ที่กำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (..2545-2549) ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำการพัฒนา เหล่านี้ล้วนยืนยันให้เห็นอิทธิพลของแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน

2        พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังแพร่หลายในสังคมไทย หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลจากการปะทะกันของความคิดสองกระแสดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสทบทวนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในอดีต แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมของเรา
การพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่หรืองานของรัฐ กิจกรรมหรืองานพัฒนาในยุคแรกๆเกิดขึ้นบนพื้นฐานการมองประชาชนในฐานะโง่ จน เจ็บ ขาดความรู้เรื่องการทำมาหากิน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และด้อยพัฒนา เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้มีความรู้และรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาแหล่งทุน และบางครั้งก็ช่วยจัดการด้านการตลาด บทบาทของชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้ แนวทางการพัฒนานี้ได้กลายเป็นหลักในการทำงานในช่วง 20 ปีแรกของการพัฒนาชนบทไทย คือระหว่าง พ..2503-2523
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดในการพัฒนาชนบทไทยจะเปลี่ยนไปบ้าง จากการเน้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนมาเป็นแนวเศรษฐกิจ-สังคม เพราะเห็นว่าการพัฒนาต้องกะทำควบคู่กันทั้งสองด้าน จึงนำเรื่องกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิธีทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญเหนือชาวบ้านตลอดมา
ปี พ..2524 ได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่นำไปสู่การพลิกโฉมการพัฒนาชนบทไทยในเวลาต่อมา กล่าวคือ องค์กรเอกชน (Non-Government Organization =NGO) ที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันวิเคราะห์งานที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับตั้งคำถาม 25 ข้อ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ ใครพัฒนาใคร คำถามเหล่านี้เกิดจากงานพัฒนาที่ทำไปแล้วได้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านมากมาย และวิธีการทำงานก็ยังเป็นแบบเดิม คือการสอน การบอกเล่า การจัดกระบวนการ และช่วยชาวบ้านทำงาน
ย้อนหลังไปเมื่อปี พ..2510 องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทได้เกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือมูลนิธิบูรณะชนบนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมูลนิธินี้ คือ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีองค์กรทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโปรเตสแตนท์และแคธอลิคต่างได้ทำงานพัฒนาชนบทแนวใหม่มาตั้งแต่ปี พ..2508  และได้ก่อตั้งสภาแคธอลิคแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ..2516 หน่วยงานทั้งสองนี้ได้เป็นแหล่งประสบการณ์ของนักพัฒนาและองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทรุ่นต่อๆมา
ผลจาการวิเคราะห์การทำงานและตั้งคำถามตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้นักพัฒนาเอกชนกลุ่มนี้และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง วัฒนธรรมกับการพัฒนาชนบท เมื่อปลายปี พ..2524 เพื่อแสวงหาแนวทางให้การพัฒนาตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งหมายถึงการพิจารณาสภาพที่เป็นจริงของวิถีชีวิตชาวบ้าน ความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ ศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในชุมชน
 ที่สำคัญ การสัมมนาในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมกับการพัฒนาไม่ใช้สองสิ่งที่แยกจากกัน แต่เป็นสิ่งเดียวกัน การพัฒนาคือการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นอกจากนั้น ยังเกิดการยอมรับว่าไม่มีใครรู้ปัญหาชาวบ้านดีไปกว่าชาวบ้าน และไม่มีใครแก้ปัญหาชาวบ้านได้ดีกว่าชาวบ้าน ฉะนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ปัญหาของชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนลักษณะที่เป็นสากลและลักษณะเฉพาะของการพัฒนาชนบทไทยไปพร้อมกัน ลักษณะที่เป็นสากลก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดและทิศทางการพัฒนาของไทยตลอดช่วง 2 ทศวรรษแรกของการพัฒนา หลังจากนั้นการทำงานได้หันเข้าสู่ลักษณะเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมชุมชน การค้นหาประสบการณ์ระดับชุมชน ทำให้เกิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เกิดจากสภาพที่เป็นจริงของอดีตและปัจจุบันของสังคมไทย และการแสวงหาความร่วมมือจากทุฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาอย่างรอบด้าน มีรากฐานอยู่ที่ระบบคุณค่าดั้งเดิม และแสวงหารูปแบบใหม่เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณแห่งอดีตและการพึ่งตนเอง
สำหรับองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาชนบท การสัมมนาในครั้งนั้นได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับยุทธวิธีในการทำงาน คนเหล่านี้ได้ลงพื้นที่ เข้าหมู่บ้าน ทรรศนะเปิดกว้าง ยอมรับคุณค่า และศักยภาพของชาวบ้าน ส่งผลให้ค้นพบผู้นำที่มีความสามารถ และบางคนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน คนเหล่านี้มีภูมิปัญญาที่ประกอบด้วยภูมิรู้และภูมิธรรม
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆ คำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านใช้สื่อความหมายกันในวงนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเล็กๆแล้วค่อยกระจายออกสู่หน่วยงานอื่นในเวลาต่อมา
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสนใจต่อภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหน่วยงานแรก  ดร.เอกวิทย์  ถลาง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานแห่งนี้ในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งสำคัญขึ้น 2 ครั้ง  ครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ..2533 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ..2534 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาชนบท การสัมมนาทั้งสองครั้งนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้แนวคิดนี้เข้าสู่แนวนโยบายของรัฐ ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (..2535-2539) ในส่วนที่ว่าด้วยวัฒนธรรมกับการพัฒนา

3        ความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน

3.1     การให้ความหมาย  นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สนใจงานด้านภูมิปัญญาต่างเห็นพ้องต้องกันในการให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้  ความรู้ และความรอบรู้ในด้านต่างๆของชาวบ้าน และชาวบ้านสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือเกิดดุลยภาพในทุกระดับ

3.2     องค์ประกอบ การให้ความหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้านให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังนี้
1)  องค์ความรู้  หมายถึง ความรู้หลายอย่างมาเชื่อมโยงกันเป็นชุดความรู้  ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมใดของชาวบ้านจะถูกยกให้เป็นกิจกรรมทางภูมิปัญญาก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมนั้นเกิดจากองค์ความรู้ ไม่ใช่ความรู้เดียว
ตัวอย่าง เกษตรธาตุสี่ ของนายหรน  หมัดหลี  อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  นายหรน  หมัดหลีเริ่มต้นทำการเกษตรจากการรู้จักชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ในฐานะเกษตรกรยากจน เขาต้องรู้จักพืชที่ต้องการจะปลูกทุกชนิดเป็นอย่างดี และนำความรู้เหล่านั้นมาวางแผนการเพาะปลูก พืชชนิดใดจะให้ผลภายใน 1 เดือน  3 เดือน  6 เดือน  และ12 เดือน เพื่อให้ครอบครัวมีอาหารและรายได้ตลอดปี 
นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังมีความรู้เรื่องดิน ก่อนปลูกพืชทุกชนิดต้องมีการทดสอบว่าเหมาะสมกับดินบริเวณนั้นหรือไม่ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคมของพืช  ความรู้นี้มีพื้นฐานมาจากการร่ำเรียนแพทย์แผนไทย ทำให้เขามองพืชทุกชนิดว่ามีธาตุสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เช่นเดียวกับคน และได้ใช้ความรู้นี้มาวางหลักในการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น หลักในการปลูกก็คือการนำพืชที่มีลักษณะตรงข้ามกันมาปลูกในหลุมเดียวกัน เช่น พืชที่มีธาตุน้ำต้องปลูกคู่กับพืชที่มีธาตุไฟ เป็นต้น การปลูกพืชในลักษณะนี้จะไม่ทำให้ต้นไม้แต่ละชนิดส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ต้นไม้แต่ละชนิดต่างให้ดอกผลตามธรรมชาติของมันเอง
นายหรน  หมัดหลี เห็นว่าไม้ผลพันธุ์ดี เช่น ทุเรียนหมอนทองมีราคาแพง คนยากจนไม่มีกำลังซื้อ เขาจึงปลูกทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งมีราคาถูก ทำให้คนจนในชุมชนสามารถซื้อไปบริโภคได้ ตลาดของเขาจึงอยู่ที่หมู่บ้าน ไม่ใช่การส่งออกสู่เมืองใหญ่ หรือต่างประเทศ ตลาดของนายหรน  หมัดหลีจึงเป็นตลาดของคนยากคนจน หวังพึ่งตนเอง ทำให้เขาไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้า
การเชื่อมโยงความรู้หลายด้านนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์หรือชุดความรู้ด้านการเกษตรของนายหรน  หมัดหลี ที่เรียกว่า เกษตรกรรมธาตุสี่
2)  เทคนิค หรือวิธีการ หมายถึง กลวิธีหรือการจัดการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ เทคนิคหรือวิธีการจะมีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของภูมิปัญญา เช่น เทคนิคการผลิต เทคนิคการจัดการ และเทคนิคการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ เป็นต้น
            ตัวอย่าง  จากองค์ความรู้ด้านการเกษตรธาตุสี่ ดังกล่าวแล้วข้างต้น นายหรน  หมัดหลีได้นำมาปฏิบัติผ่านทางเทคนิคหรือวิธีเพาะปลูกพืช  ในช่วงแรก เขาเริ่มปลูกพริก มะเขือ แตงกวา และตะไคร้ จากนั้นจึงปลูกกล้วย และไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นๆตามมา โดยเฉพาะไม้ผลไม้ยืนต้น จะปลูกหลุมละ 3 ต้น แต่ละต้นมีธาตุต่างกันตามหลักการเพาะปลูกที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังคำนึงถึงความสูง รูปทรง และลักษณะการให้ดอกออกผลของไม้แต่ละต้นที่นำมาปลูกร่วมกัน
            ในด้านการดูแลหรือบำรุงรักษาต้นไม้ นายหรน  หมัดหลีมีวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ไม่ถางหญ้าในหน้าแล้ง ใช้ปุ๋ยจากซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย และไม่ตัดแต่งกิ่ง เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวมันเอง กล่าวคือกิ่งที่อยู่ไม่ได้ ไม่เหมาะสมก็จะร่วงหล่นไปเอง
            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคหรือวิธีการเพาะปลูกพืช ที่ทำให้สวนของนายหรน หมัดหลีมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากสวนของเกษตรกรอื่นๆ แต่สอดคล้องกับองค์ความรู้ของตนที่สั่งสมมา
3)  การรับใช้ชีวิตในปัจจุบัน  ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ใช่เรื่องเล่าในอดีต ไม่ใช่ของเก่าที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นสิ่งที่มีตัวตน และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถรับใช้วิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน หรือมีพลังในสังคมยุคใหม่
การทำการเกษตรแบบธาตุสี่ของนายหรน  หมัดหลีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าครอบครัวของเขามีอาหาร มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสียลูกจำนวน 11 คนให้ได้รับการศึกษาอย่างถึง และเกือบทั้งหมดเรียนจบระดับอุดมศึกษา  และการเกษตรแบบนี้ยังได้กลายเป็นตัวแบบหรือแบบอย่างที่ดีที่เกษตรกรทั่วประเทศเดินทางมาเรียนรู้อย่างไม่ขาดสาย
การพิจารณาองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะความรู้ที่กล่าวนี้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะเป็นคำเดียวกับเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะเทคโนโลยีได้รวมเอาความรู้และเทคนิคไว้ด้วยกัน เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ไม้สอยเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การหมักปลาร้าในภาคอีสาน น้ำปูในภาคเหนือ และน้ำบูดูในภาคใต้ต่างเป็นภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในตัวมันเอง

          3.3  ประเภทของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะของความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1)  ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นนามธรรม ได้แก่ โลกทัศน์และชีวทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน
2)   ภูมิปัญญาชาบ้านที่เป็นรูปธรรม หรือแบบแผนความประพฤติปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะด้าน เช่น การทำมาหากิน การเกษตร หัตถกรรม ศิลปะและอื่นๆ

3.3  ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการ  นอกจากการพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะความรู้แล้ว อีกแง่หนึ่งสามารถพิจารณาได้ในเชิงกระบวนการ ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาวะของภูมิปัญญาที่มีลักษณะเลื่อนไหล หรือพลวัตสูง ไม่หยุดนิ่งตายตัว และมีพัฒนาการตลอดเวลา
การพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการนี้ ควรเริ่มต้นวิเคราะห์ให้เห็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมสองกระแส กระแสแรกคือ วัฒนธรรมหรือแนวคิดเก่า ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น และการเข้ามาของวัฒนธรรมหรือแนวคิดใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะขัดแย้งกัน การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมหรือสภาวะทั้งสองกระสนี้จะนำไปสู่การปรับตัวของชาวบ้านเพื่อความอยู่รอด ผลจากการปรับตัวนี้จะนำไปสู่กระแสที่สาม หรือกระแสทางเลือก อันเป็นผลจากการสังเคราะห์วัฒนธรรมสองกระแสเข้าด้วยกัน กระแสที่สามหรือกระแสทางเลือกนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและลดการกวัดแกว่งในวิถีชีวิตของผู้คน เกิดความราบรื่นในการดำเนินชีวิต ซึ่งรวมถึงการสืบทอดวัฒนธรรมหรือคุณค่าของสังคมให้ดำรงต่อไป
ตัวอย่าง  การใช้แรงงานของชาวบ้านในจังหวัดสงขลา ที่ได้พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนแรงงานของตนขึ้น เพื่อรองรับการเข้ามาของระบบเกษตรกรรมแบบใหม่
ในอดีต ชาวบ้านในภาคใต้มีวัฒนธรรม-ประเพณีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน คือการออกปาก-กินวาน ซึ่งเทียบได้กับการลงแขกในภาคกลาง เอามื้อในภาคเหนือ และเอาแฮงในภาคอีสาน การออกปาก-กินวานก็คือ การขอแรงหรือออกปากหรือวานให้เพื่อนบ้านมาช่วยทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นงานเร่งด่วนให้เสร็จทันเวลา เมื่อออกปากหรือวานคนอื่นมาช่วยงาน เจ้าของงานหรือเจ้าภาพหรือผู้ออกปากจะต้องจัดเตรียมอาหารคาวหวานไว้เลี้ยงดูผู้ที่มาช่วยงาน ทำให้เกิดคำซ้อนขึ้นมาอีกคำคือ กินวาน  แรงงานจากการออกปาก-กินวานนี้จะใช้เกือบทุกโอกาส เช่น งานในเรือกสวน ไร่ นา การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และงานประเพณี-พิธีกรรมต่างๆที่ถูกกำหนดด้วยเวลา เป็นต้น
ต่อมาเมื่อชาวบ้านในภาคใต้ โดยเฉพาะชาวสวนยางพาราต้องต้อนรับการเข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ คือระบบเกษตรกรรมแบบพืชเดี่ยว หรือการทำสวนยางพันธุ์ดี ที่ต้องใช้แรงงานแบบเข้มข้น โดยมีระบบแรงงานใหม่ คือการจ้างงาน ซึ่งเป็นระบบการแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทน โดยใช้หลักเหตุและผลทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นตัวกำหนด เข้ามาเป็นฐานรองรับการทำสวนยางแบบใหม่
การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่นี้ ได้ก่อปัญหาให้แก่ชาวบ้านหรือเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เพราะระบบแรงงานแบบเดิม คือออกปาก-กินวานไม่สามารถรองรับการใช้แรงงานแบบเข้มข้นในสวนยางพันธุ์ดี ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่เข้าสู่ระบบจ้างแรงงาน จึงก่อให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน
ในกรณีจังหวัดสงขลา ชาวบ้านหรือเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากได้พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนแรงงานใหม่ขึ้น เรียกว่า แชร์แรงงาน หรือลงพรรค หรือทำ-พัก ซึ่งเป็นระบบแรงงานรวมหมู่ ที่ยังคงคุณค่าเดิมของแรงงานระบบเก่า คือการพึ่งพาอาศัยกัน และผสมผสานด้วยคุณค่าใหม่ของระบบจ้างงาน คือการแลกเปลี่ยนแรงงานในหน่วยหรือปริมาณที่เท่าเทียมกัน เช่น จำนวนชั่วโมงเท่ากัน ผู้แลกเปลี่ยนแรงงานอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันเพราะมีแรงงานไม่แตกต่างกันมากนัก ดั่งนี้เป็นต้น 

สุนทรียศาสตร์และดนตรี

คุณค่าของสุนทรียศาสตร์

          สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสวย ความงาม และความไพเราะ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่มนุษย์ทุกคนพึงปรารถนา เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องการ จริง ๆ แล้ว สุนทรียะยังหมายรวมถึงคุณสมบัติที่สามารถรับรู้ของหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจพึงปรารถนา นอกจากความสวยและความงามที่ใช้ดูด้วยตาเป็นสื่อ ยังมีความไพเราะที่ต้องฟังด้วยหู กลิ่นหอมที่ต้องดมด้วยจมูก รสชาติที่ต้องชิมด้วยลิ้น การสัมผัสที่จะต้องใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องใช้จิตใจเป็นความรู้สึกในการรับรู้
            สุนทรียะจะต้องมีสื่อเพื่อที่จะช่วยให้คนได้รับรู้ ปราศจากสื่อก็คือการปราศจากการรับรู้ ไม่มีสื่อเสียแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะชื่นชมงานศิลปะใด ๆ ได้ คนตาบอดไม่สามารถชื่นชมความสวยงามได้ฉันใด คนหูหนวกก็ไม่สามารถชื่นชมเสียงดนตรีที่ไพเราะฉันนั้น
            ดนตรีเป็นสุนทรียะที่เกี่ยวข้องกับเสียง ดนตรีเกี่ยวข้องกับความไพเราะ เมื่อพูดถึงดนตรีแล้วก็หมายถึงความไพเราะ แต่ยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีกว่า เป็นความไพเราะของใคร เพราะว่าแต่ละคนรับรู้ความไพเราะที่แตกต่างกันคนละระดับกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน คนจึงฟังดนตรีกันหลากหลายต่างชนิดกัน ชื่นชอบเพลงไม่เหมือนกัน
            ความรู้สึกของคำว่า รักคุณเท่าฟ้าทุกคนรู้โดยรวม ๆ ว่าฟ้านั้นกว้าง แต่ความกว้างของฟ้าของแต่ละคนไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน ฟ้าเป็นโลกทัศน์ของแต่ละคน ฟ้าเป็นความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งใหญ่และฟ้าเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นละเอียดอ่อน
            ทุกคนรู้สึกว่า เหงา  อธิบายไม่ได้แต่รู้สึกได้ คำว่า เหงาของบางคนมีความหมายเล็กเกินไปกว่าความเหงาจริง เพราะรู้สึกว่าเราเหงามากกว่านั้น เหงาเหงาเหงาจะเขียนอีกสักกี่ตัว คำหรือภาษา ก็ยังเล็กไปสำหรับความรู้สึกที่มีความเหงาจริง
            ความรู้สึกปีติ ความอิ่มเอิบ ความภูมิใจ เมื่อได้พบกับความสวยงาม ความงาม ความไพเราะ ได้พบกับบรรยากาศ รสนิยม และคุณค่าที่ดี ความรู้สึกปีติเป็นพลังกายในที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับจิตใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นคนไปดูหนังผี เป็นสุนทรียะที่เกิดขึ้นจากความกลัว ที่จริงแล้วคนดูหนังได้เตรียมตัวกลัวผีไปจากบ้านแล้ว ถ้าหนังผีสามารถสร้างความกลัวให้กับผู้ชมได้ถึงใจ คือ สร้างให้ผู้ชมเกิดความกลัวได้ ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม แต่ถ้าหากว่าภาพยนตร์ไม่สามารถทำให้ผู้ชมกลัวได้ คือไม่น่ากลัว หนังผีเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากดู เพราะหัวใจของหนังผีก็คือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ชม

ดนตรีในความหมายของสุนทรียศาสตร์

          ดนตรีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ของดนตรีเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับเสียงลักษณะและคุณภาพของเสียง หนา-บาง สูง-ต่ำ ดัง-เบา สั้น-ยาว เล็ก-ใหญ่ ฯลฯ แหล่งกำเนิดเสียง คุณสมบัติของเสียง ศาสตร์เป็นความรู้ที่สามารถสืบทอดการเรียนรู้โดยการอ่านบอกเล่า ถ่ายทอดสู่กันฟัง การสืบค้นคว้าจากหลักฐานต่าง ๆ ความรู้สามารถคิดหาเหตุผลมาประติดประต่อได้ ความรู้สามารถเรียนรู้ได้โดยการจดจำ ท่องบ่น ทบทวน และที่สำคัญก็คือความรู้สามารถเรียนทันกันหมด ความรู้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้
            การ ทรงจำดนตรี เอาไว้โดยการท่องบ่นแบบนกแก้วนกขุนทอง เป็นแต่เพียงคุณค่าของศาสตร์เท่านั้น การท่องบ่นเป็นการทำซ้ำ ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ขาดความมีชีวิตชีวา รวมทั้งความรู้รอบ ๆ ดนตรี ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง กิตติศัพท์ เกียรติคุณ เป็นแต่เพียงแต่องค์ประกอบนอกเหนือดนตรีทั้งสิ้น
            สุนทรียะเป็นเรื่องของศิลป์ ดนตรีเป็นศิลปะของการเรียบเรียงเสียง นำเอาเสียงที่มีความสูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนา-บาง ดัง-เบา มาต่อกันโดยอาศัยความรู้ การนำเสียงมาต่อกันให้มีศิลปะ จึงจะเกิดเป็นความไพเราะขึ้น ถ้านำเสียงเอามาต่อกันแล้วไม่มีศิลปะก็ไม่เป็นดนตรี กลายเป็นเสียงอื่น ๆ ไป
            ความไพเราะของเสียงดนตรีเป็นสุนทรียะ สืบทอดโดยการเล่าสู่กันฟังอย่างความรู้ไม่ได้ อ่านความไพเราะไม่ได้ ท่องจำความไพเราะไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ความไพเราะของดนตรีจะต้องสัมผัสด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์ตรงเท่านั้น
            การสัมผัสความไพเราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เฉพาะคนไม่เกี่ยวกับวัย ไม่เกี่ยวกับวุฒิ ไม่เกี่ยวกับปัญญา ไม่เกี่ยวกับปรัชญา แต่ความไพเราะอยู่นอกเหนือปรัชญาและปัญญา

การพูด

ความสำคัญของการพูด
      การพูดเป็นการสื่อสารที่สะดวก  รวดเร็ว  ประหยัด  และมีประสิทธิภาพสูง ทุกคน ทุกอาชีพ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้การพูดด้วยกันทั้งนั้น
    ในทางพุทธศาสนา ได้จัดการพูดดีไว้เป็นมงคลชีวิต มงคลหนึ่งใน 38 มงคล คือ มงคลที่ 10  สุภาสิตา  อยา  วาจาหมาถึง การมีวาจาสุภาษิต เป็นมงคลชีวิต
    ... คึกฤทธิ์  ปราโมช  ได้ชี้ถึงความสำคัญของการพูดไว้ในเรื่อง  การพูดสมบัติพิเศษของมนุษย์  ดังนี้
    ในการเสนอแผนการหรือนโยบายนั้น  บุคคลผู้เสนอจะต้องอาศัยปากอันเป็นเอก หรือการพูดที่ดีเป็นสำคัญ  หากพูดดีแล้วก็ย่อมได้รับการสนับสนุนร่วมมือโดยไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากว่าพูดไม่ดี  เป็นต้นวาขาดการใช้ถ้อยคำที่สละสลวยถูกต้อง  หรือขาดสำนวนโวหารอันควรฟัง ลำดับเหตุผลไม่ถูกต้อง ไม่รู้จิตวิทยาชุมชน หรือ ลุแก่โทสะ โมหะ  อย่างใดอย่างหนึ่งในระหว่างที่พูดแล้ว แผนการหรือนโยบายที่ตั้งในจะเสนอนั้น ก็จะล้มเหลวเสียตั้งแต่แรก เพราะขาดผู้สนใจ ขาดผู้สนับสนุน ประโยชน์ที่ควรจะเกิดก็ไม่เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์ในการพูด
1.       เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร
2.    เพื่อสร้างความเข้าใจ
3.    เพื่อให้เกิดความเชื่อ เห็นคล้อยตาม
4.    เพื่อให้กระทำตามที่ต้องการ
5.     เพื่อบรรยากาศที่ดี

โอกาสในการพูด
1.      การพูดต่อที่ชุมชน
2.      การพูดปราศรัยในงานต่างๆ
3.      การสอน การบรรยาย
4.      การนำเสนอ
5.      การอภิปราย ปาฐกถา โต้วาที
6.      การพูดจูงใจ
7.      การประชุม

แบบในการพูด
-          ท่องจำ
-          อ่านจากร่าง
-          พูดตามหัวข้อ
-          พูดโดยไม่เตรียมตัว (พูดในสถานการณ์เฉพาะหน้า)

องค์ประกอบในการพูดให้จับใจผู้ฟัง
            องค์ประกอบที่สำคัญในการพูดให้จับใจผู้ฟัง มี 3 ส่วน คือ
1.      ผู้พูด
ประกอบด้วยเรื่องที่ต้องรู้ดังนี้
-          บุคลิกลักษณะ
-          การเตรียมตัว
2.      เนื้อหา
ประกอบด้วยเรื่องที่สำคัญคือ
-          การรวบรวมข้อมูล
-          การสร้างโครงเรื่อง
-          การใช้ถ้อยคำภาษา
-          การใช้สื่อ
-          การทดสอบความพร้อม
3.      ผู้ฟัง
-          วิเคราะห์ผู้ฟัง  เพื่อเตรียมตัวพูด

บุคลิกลักษณะที่ดีของผู้พูด
            ลักษณะที่ดี 10 ประการของผู้พูด
1.      รูปร่างหน้าตา
การดูแลรูปร่างหน้าตาให้ดูดี จะช่วยสร้างความพอใจและความยอมรับจากผู้ฟังหรืออย่าง
น้อยก็ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจากผู้ฟัง จึงเป็นสิ่งที่ผู้พูดไม่ควรละเลย
เรื่องที่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา คือ
-          ความสะอาด
-          ความเรียบร้อย
-          การจัดให้ดูดี
2.      การแต่งกาย
ไก่งามเพราะขน  คนงามเพราะแต่ง  ยังคงใช้ได้    สำหรับการเป็นผู้พูดที่ประสบ
ความสำเร็จ เพราะการแต่งกายที่ดี  จะนำมาซึ่งความพอใจและความเชื่อถือของผู้ฟัง
                        การแต่งกายที่ดี ควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
-          รูปร่าง
-          วัย
-          โอกาส
-          เวลา
-          สถานที่
-          การตกแต่งประดับประดาที่พอดี
-          การสำรวจตรวจสอบความเรียบร้อย
-          ความสุภาพ
3.      น้ำเสียง
     ผู้พูดต้องพูดเสียไม่เบา  หรือดังเกินไป  โดยคำนึงถึงสถานที่และ จำนวนผู้ฟัง  รู้จักใช้เสียง
หนัก  เบา  มีท่วงทีลีลาและจังหวะในการพูด    มีการเน้นย้ำให้สอดคล้องกับเรื่องที่พูด เพื่อการกระตุ้นผู้ฟังให้สนใจตลอดเวลา
4.      สีหน้า
ผู้พูดต้องแสดงสีหน้าให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่พูด  พูดเรื่องเศร้าสีหน้าต้องเศร้า โกรธ สี
หน้าต้องโกรธ  พูดจริง หน้าตาต้องจริงจัง  พูดเล่น หน้าตา (น้ำเสียงด้วย) ก็ต้องให้ผู้ฟังรู้ว่าพูดเล่น ฯลฯ  ผู้ฟังจะคล้อยตามผู้พูดเมื่อสีหน้าผู้พูดแสดงความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ
            5.      สายตา
ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ   ใจของผู้พูดเป็นอย่างไร  ตาก็เป็นอย่างนั้น ผู้พูดต้องสบตา
ผู้ฟัง เพื่อให้รู้สึกว่าผู้พูดกำลังพูดกับผู้ฟัง
            6.      ท่าทาง
ผู้พูดต้องพูดจากใจ มีความจริงใจ พูดจากความรู้สึกจริงๆ ท่าทางก็ออกไปโดยอัตโนมัติ
อย่างไปกำหนดท่าทางว่า พูดอย่างนี้อย่างนั้นแล้ว ต้องแสดงท่าทางอย่างนี้อย่างนั้น จะทำให้การพูดสะดุดไม่เป็นธรรมชาติ แต่พึงระวัง ในระหว่างที่กำลังพูดอย่าล้วง แคะ แกะ เกา จะทำให้ผู้ฟังไปสนใจกิริยาท่าทางดังกล่าว
            7.      ความเชื่อมั่น
ผู้พูดที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จะแสดงความประหม่าให้ผู้ฟังเห็น นอกจากการพูดจะ
ไม่คล่องแล้ว ความประทับใจของผู้ฟังก็จะไม่เกิดขึ้น  ผู้พูดต้องแสดงความเชื่อมั่นให้กับตนเอง คือ ต้องศึกษาหลักการพูด  วิเคราะห์ผู้ฟัง  เตรียมเนื้อหาและฝึกซ้อมจนพูดได้โดยรู้สึกเป็นธรรมชาติ ปราศจากความประหม่า
           
8.      ความกระตือรือร้น
ผู้พูดที่ดีต้องพูดอย่างมีชีวิตชีวา ไม่เนือย ไม่เฉื่อย เพราะทฤษฎีของการพูดมีอยู่ว่า ผู้พูด
ต้องเป็นผู้กำหนดท่าทีของผู้ฟัง  นั่นหมายความว่า  หากผู้พูดพูดอย่างกระตือรือร้น ผู้ฟังจะ สนใจและกระตือรือร้นในการฟัง
            9.      อารมณ์ขัน
ผู้ฟังทุกคนต้องการหาความรู้ ต้อการฟังเรื่องที่มีสาระ แต่ในขณะเดียวกัน  ก็ต้องการความ
สนุกสนานด้วย  หากผู้พูดมีอารมณ์ขัน และใช้อารมณ์ขันให้เหมาะสม กับเรื่องกับโอกาสแล้ว จะประสบความสำเร็จในการพูดเป็นอย่างยิ่ง  ผู้ฟังจะพอใจและประทับใจและมีอารมณ์ร่วมตลอดเวลา อารมณ์ขันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้พูดมีอารมณ์แจ่มใส มองคนมองโลกในแง่ดี สะสมตัวอย่างตลกขำขัน ไว้มากมายสามารถจะดึงมาให้ได้อย่างไม่หมดสิ้น
           10.  ปฏิภาณไหวพริบ
เพื่อใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น  การฝึกฝนให้มีปฏิภาณไหวพริบ จะช่วยคลี่คลาย
สถานการณ์ ทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี หรือผ่อนคลายจากหนักเป็นเบาลงได้

การเตรียมตัวในการพูด
                        ปัจจัยสำคัญของนักพูดที่ประสบความสำเร็จก็คือ    การเตรียมตัว  การเตรียมตัวเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ผู้พูดพึงตระหนักและเข้าใจอย่างถ่องแท้  มักจะเคยเห็นกันอยู่เสมอว่านักพูดบางคนเตรียมตัวมาแล้ว แต่เมื่อขึ้นเวทีพูด ก็ยังเกิดความผิดพลาดและความล้มเหลวอยู่ดี ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเตรียมนั้นยังไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง

                                                การเตรียมตัวที่ดีและถูกต้อง
                                                ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในการพูด
                                                สามารถทำให้พูดแล้วจับใจผู้ฟังได้

แนวโน้มของเทคโนโลยีการศึกษา

แนวโน้มของเทคโนโลยีการศึกษา
            ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศในการขจัดข้อจำกัดของกาลเวลา และระยะทาง ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเกิดได้ในทุกเวลา และทุกสถานที่ ซึ่งจากวิวัฒนาการนี้เองได้ก่อให้เกิดรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา

เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา

            เทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการนี้ เป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งจัดเป็นระบบการเรียนการสอนทางไกลแบบสองทาง
            เทคโนโลยีโทรประชุมทางไกล ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ใช้ในการสื่อสารระยะไกล เป็นการผสมผสานของสัญญาณภาพ สัญญาณเสียงและข้อมูลผนวกกับเทคโนโลยีของเครือข่ายและการสื่อสารเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์ที่สามารถโต้ตอบกันแบบ ระหว่างกลุ่ม 2 กลุ่มหรือมากกว่าซึ่งอยู่ห่างไกลกัน
            โดยสรุปแล้วระบบโทรประชุมทางไกล หมายถึง การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ เป็นบริการที่ให้ทั้งภาพและเสียงในเวลาเดียวกัน โยผู้ใช้ทั้งต้นทางและปลายทางจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ ซึ่งประกอบด้วย กล้องถ่ายภาพ จอภาพ อุปกรณ์แปลงสัญญาณ และชุดควบคุมการประชุมระหว่างจุดสองสุด จะต้องใช้อุปกรณ์สองชุดเชื่อมต่อกัน ส่วนการประชุมพร้อม ๆ กันนั้นจะต้องใช้อุปกรณ์  เท่าจำนวนจุดที่ต้องการประชุมและจะต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมหลายจุด  ช่วยการตัดภาพระหว่างจุดแต่ละจุด อุปกรณ์นี้สามารถเชื่อมสัญญาณเข้าด้วยกันได้ โดยทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องรับและเครื่องส่งภายในเครื่องเดียวกัน ส่งสัญญาณผ่านเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงหรือผ่านระบบโครงข่าย
            นอกจากนี้จากการที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน ชิน ฟันแฟร์  ทำให้ได้ทราบถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนยุคใหม่คือ เครือข่ายศูนย์การเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมดำเนินงานโดย บริษัท ชิน บรอดแบรนด์ อินเตอร์เน็ต (ประเทศไทยจำกัด) นำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดของการเรียนการสอนยุคใหม่เป็นครั้งแรกใน ประเทศไทย โดยใช้โครงการเทคโนโลยีบรอดแบรนด์ Ipstar หรือ Internet ความเร็วสูงผ่านดาวเทียม แบบ 2 ทาง (Interactive) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนทั้งภาพ เสียง และข้อมูล โดยเปิดโอกาสให้มีการโต้ตอบระหว่างผู้สอนจากศูนย์ iLearn ในกรุงเทพมหานคร และผู้เรียนที่อยู่ ณ ศูนย์ iLearn ในต่างจังหวัดเสมือนเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน
             โดยศูนย์การเรียนการสอน I Learn ในจังหวัดต่างๆ ส่งผ่านข้อมูลผ่านทาง IPStar Gatewey แล้วผ่านไปยัง Fiber Opic แล้วส่งต่อไปยังสถานีแม่ข่ายเพื่อออกอากาศหลักสูตรการสอน และการอบรม
           ยิ่งไปกว่านั้นหากมองในอีกแง่มุมหนึ่งของการศึกษาทางไกลนอกเหนือจากการศึกษาทางไกลผ่านทางเทคโนโลยีโทรประชุมทางไกล (Video Conference) การศึกษาทางไกลผ่านทางดาวเทียม การศึกษาทางไกลผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ดังที่ได้กล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ในตอนต้นแล้ว การศึกษาทางไกลอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นระบบการเรียนทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่นิยมเรียกกันว่า  E-Learning หรือ Electronic Learning ก็เป็นส่วนสำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อการจัดการศึกษาของไทยให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกคน ซึ่งเนื้อหาในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงสาระที่สำคัญของ E – Learning ดังต่อไปนี้
            E-Learning หรือ Electronic Learning หมายถึง รูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่มี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ มีวัตถุประสงค์ที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้องค์ความรู้  ได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่   เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกระบวนวิชาที่เรียนนั้น ๆ 
            รูปแบบการเรียนการสอน
1. การเรียนการสอนทางไกล (Distance Education) เป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง เช่น ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประชุมทางไกลชนิดภาพและเสียง รวมถึงเอกสารต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล
2. แบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ เรียกว่า Online University หรือ Virtual University เป็นระบบการเรียนการสอนที่อยู่บนเครือข่ายในรูปเว็บเพจ มีการสร้างกระดานถาม-ตอบ อิเล็กทรอนิกส์ (Web Board)
3. การเรียนการสอนผ่านทางอินเตอร์เน็ตและเว็บเพจ (Online Learning, Internet Web Base Education) เป็นการนำเสนอเนื้อหาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนโดยเน้นสื่อประสมหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ประสานงานกัน ให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าถึงฐานข้อมูลหลายชนิดได้ โดยผู้เรียนต้องควบคุมจังหวะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เป็น และเลือกเวลา สถานที่ในการเรียนรู้
           4. โครงข่ายการเรียนการสอนแบบอะซิงโครนัส (Asynchronous Learning Network : ALN) เป็นการเสียนการสอนที่ต้องการติดตามผลระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน โดยใช้การทดสอบบทเรียน เป็นตัวโต้ตอบ

ชีวิตในมิติแห่งกรรม

ความจริงของชีวิต
(หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด)
เรื่องสำคัญยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือเรื่องหลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Law of Karma and Rebirth
ความเข้าใจเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ทุกแง่ทุกมุม ทำให้ไม่ต้องน้อยใจในชะตาชีวิตของตนและไม่ริษยาความสุขของผู้อื่น เพราะได้เห็นแจ้งแล้วว่า ความสุขทุกข์ รุ่งเรือง หรือล้มเหลวในชีวิตของแต่ละคนนี้เป็นผลรวมแห่งกรรมของตน หรือกรรมแห่งหมู่คณะของตนเป็นต้น
เรื่องกรรม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ความแตกต่างกันในเรื่องอุปนิสัยใจคอของคน แม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกันและมีมารดาบิดาเดียวกัน ได้รับการอบรมอย่างเดียวกัน  
ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งเรื่องกรรม ทำให้บุคคลมีน้ำอดน้ำทน มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ท้อถอย มีความเพียรสั่งสมกรรมดีขยาดต่อกรรมชั่ว ไม่ตีโพยตีพายเมื่อผิดหวัง และไม่ระเริงหลงในเมื่อประสบผลดี เราะมารู้แจ้งว่าผลทุกอย่างย่อมมีมาเพราะเหตุ
เรื่องกรรมช่วยให้บุคคลกล้าเผชิญชีวิตอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถมองเห็นแง่ดีแม้ของความผิดหวัง หรือส่งที่เรียกกันว่าโชคร้าย เพราะแจ่มแจ้งว่า มันเป็นการใช้หนี้กรรมอย่างหนึ่ง ทำให้เรือชีวิตเบาขึ้น ทำให้แล่นไปข้างหน้าได้รวดเร็วขึ้น เหมือนบุคคลมีหนี้สิน เมื่อได้ใช้หนี้ไปเสียบ้าง ย่อมทำให้สบายใจขึ้น เบาใจขึ้น
หลักกรรมจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการเกิดใหม่หรือการเวียนว่ายตายเกิด เพราะมีปัญหาชีวิตหลายอย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ ถ้าปราศจากการเวียนว่ายตายเกิดหรือที่เรียกว่า สังสารวัฏเช่นปัญหาเรื่องคนดีบางคนมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน และคนชั่วบางคนมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญเป็นต้น ปัญหานี้จะเป็นเรื่องค้างโลกถ้ากฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่ไม่เข้ามาช่วยแก้
อนึ่ง ช่วงชีวิตเพียงช่วงเดียวของบุคคลสั้นเกินไปไม่เพียงพอพิสูจน์กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วได้ทั้งหมด การเกิดใหม่จะช่วยอธิบายกรรมในอดีตของคนได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นชีวิตมนุษย์จึงเป็นสนามหรือเวทีสำหรับทดลองแรงกรรม ว่าใครได้ทำกรรมอะไรไว้มา น้อย เบาบาง หรือรุนแรงเพียงใด
   ด้วยประการฉะนี้ การศึกษาให้รู้แจ้งในเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีผลเป็นความสุข สงบแก่ผู้ศึกษาเรียนรู้ มีประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตจิตใจให้สูงขึ้นร่มเย็นและทำให้เห็นว่าการเกิดของเรามีความหมาย ไม่ใช่เกิดมาโดยบังเอิญ มีชีวิตอยู่อย่างหลักลอยปล่อยตัวและตายไปอย่างน่าสมเพชเวทนา
    เรื่องกรรม และการเวียนว่ายตายเกิดทำให้บุคคลหายงมงายหายตื่นเต้นต่อความขึ้นลงของชีวิต ช่วยคลี่คลายความข้องใจในความสับสนของชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิต เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ความเรียนรู้และทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งเพื่อชีวิตของตนเองจะได้ดีขึ้นและทำผู้ใกล้ชิด เช่น บุตรหลาน หรือบริวารชนให้มีความเข้าใจในปัญหาชีวิตของตน
      ครู ผู้สอนวิชาศาสนาหรือวิชาอื่นใดก็ตามควรย้ำให้นักเรียนเข้าใจและเชื่อมั่นในเรื่องหลักกรรมและสังสารวัฎเพราะอันนี้คือพื้นฐานอันจะทำให้ศีลธรรมมั่นคงในจิตใจของเยาวชนเหล่านั้น
      ต่อไปนี้เป็นพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 แห่งบรมจักรีวงศ์)
สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสิ่งที่เราควรจะสอนให้เข้าใจแลบะให้เชื่อมั่นเสียตั้งแต่ต้นทีเดียวคือสิ่งที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา นั่นคือ วัฏฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดและกรรม ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาเพราะหนทางปฏิบัติของพุทธศาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏสงสาร อันเป็นความทุกข์แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือความเชื่อในกรรม แต่จะสอนแต่เรื่องกรรมอย่างเดียว ไม่สอนเรื่องวัฏฏสงสารด้วยก็ไม่สมบูรณ์
     ความเชื่อในกรรม ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่งควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นในกรรมแล้ว มนุษย์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดีโดยหวังผลที่ดี เรื่องวัฏฏสงสารและกรรมนี้เป็นของต้องมีความเชื่อ เพราะเป็นของที่น่าเชื่อกว่าความเชื่ออีกหลายอย่าง
     ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ถ้าคนเราเชื่อกรรมจริง ๆ แล้ว ควรจะได้ความสุขใจไม่น้อย โดยที่ไม่ทำให้รู้สึกท้อถอยอย่างไร
                ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรพยายามสอนเด็กให้เชื่อมั่นในกรรมเสียแต่ต้นทีเดียว ยิ่งให้เชื่อได้มากท่าไรยิ่งดี ควรให้ฝังเป็นนิสัยทีเดียว
 กฎแห่งกรรม
                หลักกรรมหรือกฎแห่งกรรมมีอยู่ว่า บุคคลทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นแต่เนื่องจากกรรมบางอย่างหรือการกระทำบางคราวไม่มีผลปรากฏชัดในทันที ผู้มีปัญญาน้อยจึงมองไม่เห็นผลแห่งกรรมของตน ทำให้สับสนและเข้าใจไขว้เขว เพราะบางทีกำลังทำชั่วอยู่แท้ ๆ มีผลดีมากมาย เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต ตรงกันข้ามบางคราวกำบังทำความดีอยู่อย่างมโหฬาร แต่กลับได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ มีผลไม่ดีมากมาย เช่น ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้ายถูกสบประมาท และความเจ็บไข้ได้ป่วยหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต
               ความสลับซับซ้อนดังกล่าว ทำให้ผู้รับผลของกรรมสับสน เกิดความไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความชั่วจริง ๆ หรือ ?
   ตามความเป็นจริงแล้ว กรรมชั่วที่เขากำลังทำอยู่ยังไม่ทันให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำไว้ก่อนถึงวาระให้ผลในขณะที่คนผู้นั้นกำลังทำชั่วอยู่ จึงทำให้เขาได้รับผลดีถ้าเปรียบทางวัตถุก็จะมองเห็นง่ายขึ้น เช่นคน ๆ หนึ่งกำลังปลูกต้นไม้อันเป็นพิษอยู่ มีผลไม้หอมหวานอร่อยสุกมากมายในสวนของเขา  เขาได้ลิ้มรสอันอร่อยของผลไม้ซึ่งเขาปลูกไว้ก่อน ต่อมาต้นไม้มีพิษออกผลในขณะที่เขากำลังปลูกต้นไม้ที่มีผลอร่อยอยู่ เขาบริโภคผลไม้มีพิษ รู้สึกได้รับทุกเวทนาข้อนี้ฉันใด กรรมกับผู้กระทำกรรมก็ฉันนั้น กรรมดีย่อมให้ผลดี กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว แต่เพราะกรรมจะให้ผลก็ต่อเมื่อสุกเต็มที่แล้ว (Maturation) และมีความสลับซับซ้อนมาก จึงทำให้งง ทั้งนี้ สามเหตุหนึ่งก็เพราะสติปัญญาของคนทั่วไปมีอยู่อย่างจำกัดมาก เหมือนแสงสว่างน้อย ๆ ไม่พอที่ส่องให้เห็นวัตถุอันสลับซับซ้อนอยู่มากมายในบริเวณอันกว้างใหญ่และบริเวณนั้นถูกปกคลุมอยู่ด้วยความมืด เมื่อใดดวงปัญญาของเขาแจ่มใสขึ้น เขาย่อมมองเห็นตามเป็นจริง ปัญญาของเขายิ่งแจ่มใสขึ้นเพียงใดเขาย่อมสามารถมองเห็นเรื่องกรรมและความสบับซับซ้อนของชีวิตมากขึ้นเพียงนั้น เหมือนแสงสว่างมีมากขึ้นเพียงใด ผู้มีจักษุปกติย่อมสามารถมองเห็นวัตถุอันละเอียดมากขึ้นเพียงนั้น
                สิ่งใดที่ละเอียดมาก เช่น จุลินทรีย์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนักวิทยาศาสตร์เขาใช้เครื่องมือคือกล้องจุลทรรศน์ซึ่งมีอานุภาพขยายเป็นพัน ๆ เท่าของวัตถุจริง จึงทำให้มองเห็นได้ สิ่งใดอยู่ไกลมากระยะสายตาธรรมดาไม่อาจทอดไปถึงได้นักวิทยาศาสตร์เขาใช้กล้องส่องทางไกล จึงสามารถมองเห็นได้เหมือนวัตถุซึ่งปรากฏอยู่ ณ ที่ใกล้ข้อนี้ฉันใด
                ผู้ได้อบรมจิตและปัญญาแล้วก็ฉันนั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิต สามารถเห็นได้ละเอียดรู้ได้ไกลซึ่งเรื่องกรรมและผลของกรรม ชนิดที่สามัญชนมองไม่เห็นหรือมองให้เห็นได้โดยยาก ทั้งนี้ เพราะท่านมีเครื่องมือคือปัญญาหรือญาณสามัญชนไม่มีปัญญาหรือญาณเช่นนั้นจึงมองไม่เห็นอย่างที่ท่านเห็น เมื่อท่านบอกให้บากคนก็เชื่อตาม บางคนไม่เชื่อ ใครเชื่อก็เป็นประโยชน์แก่เขาเองทั่งด้านการดำเนินชีวิตและจิตใจ หาความสุขได้เอง
                ผู้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กำไรกว่าผู้ไม่เชื่อคือทำให้เว้นชั่ว ทำดีได้มั่นคง ยั่งยืนกว่าผู้ไม่เชื่อ ทำให้เป็นคนดีในโลกนี้ จากโลกนี้ไปแล้วก็ไปบีนเทิงในโลกหน้าเมื่อประสบปัญหาชีวิตอันแสบเผ็ดก็สามารถทำใจได้ว่า มันเป็นผลของกรรมชั่วเมื่อประสบความรื่นรมย์ในชีวิตก็ไม่ประมาท มองเห็นผลแห่งกรรมดีและหาทางพอกพูนกรรมดีต่อไป

                เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แต่ที่คนส่วนมากยังลังเลหรือเข้าใจผิดไปบ้างก็เพราะความสลับซับซ้อนของกรรมและการให้ผลของมัน การได้ดีหรือได้ชั่วนั้น ถ้าเอาวัตถุภายนอกเป็นเครื่องตัดสินก็ลำบากหน่อย ต้องรอคอยบางทีขณะที่กำลังรอคอยอยู่นั้น ผลของกรรมอื่นแทรก แซงเข้ามาเสียก่อน ยิ่งทำให้ผู้ทำกรรมซึ่งกำลังรอคอยผลอยู่นั้นงงและไขว้เขวไปใหญ่
               
ผลภายนอกและผลภายใน
ผลภายนอก คือ ผลที่ตนเองและคนอื่นมองเห็นได้ง่ายอย่างธรรมดาสามัญ เพราะมันมาเป็นวัตถุสิ่งของหรือสิ่งสมมติ เช่น ลาภยศ สรรเสริญ ความเพลิดเพลินความมีหน้ามีตาในสังคมเพราะมีทรัพย์เกื้อหนุนให้เป็นหรือในทางตรงกันข้าม เช่น เสื่อมทรัพย์ อัปยศ ถูกนินทา ติเตียน มีความทุกข์ต่าง ๆ รุมสุมเข้ามาเช่นความเจ็บป่วย ความต้องพลัดรากจากปิยชนมีบุตร ภรรยา (สามี) เป็นต้น
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขนั้น คนทั้งหลายพากันฝังใจเชื่อว่าเป็นผลดีหรือผลของกรรมดี ส่วนเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาติเตียนและทุกข์นั้นเป็นผลชั่วหรือผลของกรรมชั่ว แต่ในชีวิตปัจจุบันที่เห็น ๆ กันอยู่หาได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่   ลาภอันให้เกิดขึ้นโดยทุจริต มิจฉาชีพก็ได้ โดยสุจริต สัมมาชีพก็ได้ ยศอาจเกิดขึ้น โดยประจบสอพลอก็ได้ โดยการประกอบการงานอย่างขยันมั่นเพียรก็ได้ สรรเสริญอาจเกิดขึ้นเพียงเพราะผู้สรรเสริญเข้าใจผิดหรือเพราะเป็นพวกเดียวกันมีอคติอยู่ในใจก็ได้เพราะมีคุณความดีจริง  ก็ได้ส่วนความสุข ความเพลิดเพลินนั้นเกิดขึ้นได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ชอบ บุคคลชอบสิ่งใดเมื่อได้สิ่งนั้นตามปรารถนาก็รู้สึกสุข เพลิดเพลินไปพักหนึ่ง เมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่สมใจปรารถนาก็เป็นทุกข์
ในฝ่ายเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ ก็มีนัยเดียวกันกับฝ่ายลาภ ยศ คืออาจเกิดขึ้นเพราะการทำดีหรือทำชั่วก็ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ทำความดีโดยการบริจาคทรัพย์เพื่อสาธารณกุศลเป็นจำนวนล้าน ทรัพย์นั้นของเขาต้องลดจำนวนลง จะเรียกว่าเสื่อมลาภไม่ คนทำความดีอาจถูกถอดยศก็ได้ เมื่อทำไม่ถูกใจของผู้มีอำนาจให้ยศหรือถอดยศ คนทำดีอาจถูกติเตียนก็ได้ ถ้าคนผู้ติเตียนมีใจไม่เป็นธรรม หรืออคติจงใจใส่ร้ายเขา คนทำดีอาจต้องประสบทุกข์ได้เพราะต้องมีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำและความเจ็บใจ เช่น ความลำบากกายลำบายใจในการเลี้ยงดูบุตรและสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี ซึ่งท่านเรียกว่า ความทุกข์ที่ต้องลงทุน (Per-payment)
ผลภายนอกเป็นของไม่แน่นอนอย่างนี้ ถ้าถือเอาผลภายนอกมาเป็นเครื่องตัดสินผลของกรรมย่อมทำให้สับสนเพราะบางคราวผลที่เกิดขึ้นสมแก่กรรม แต่บางคราวไม่สมแก่กรรมเท่าที่บุคคลพอจะมองเห็นได้ในระยะสั้น
ส่วนผลภายใน คือ ผลที่เกิดขึ้นแก่จิตใจของผู้ทำเป็นผลที่แน่นอนกว่า คือ คนทำความดี รู้สึกตนว่าได้ทำความดีจิตใจย่อมผ่องใสขึ้น จิตสูงขึ้น ส่วนคนทำชั่วรู้สึกตนว่าเป็นคนทำชั่ว จิตย่อมเศร้าหมองไป อาการที่จิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วนั้นเองเป็นผลโดยตรงของกรรมดี กรรมชั่ว สุขทุกข์ของบุคคลอยู่ที่อาการเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วของดวงจิตมากกว่าอย่างอื่น ทรัพย์สิน สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ จะได้มามากเพียงใดก็ตาม ถ้าใจเศร้าหมอง ทุรนทุรายอยู่ด้วย โลภ โกรธหลงอยู่เสมอแล้ว สิ่งเหล่านั่นหาสามารถให้ความสุขแก่เจ้าของเท่าที่ควรไม่ ตรงกันข้ามกลับเป็นสิ่งให้ทุกข์เดือดร้อนเสียอีก ผู้มีใจผ่องแผ้วเต็มที่ เช่น พระอรหันต์ แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติภายนอกที่ชาวโลกกรหายใด ๆ เลยแต่ท่านมีความสุขมากเป็นความสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์               
กรรมมีผลเนื่องถึงผู้อื่น
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ ความดี ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ มีเฉพาะตนหรือคนอื่นอาจทำให้เราบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองได้
ถ้าความดี ความชั่ว ใครทำ ใครได้ ความบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตนคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้แล้ว ไฉนเล่าเมื่อมารดาบิดาเป็นคนดี ลูกหลานจึงได้รับเกียรติได้รับความยกย่องนับถือด้วย เมื่อมารดาบิดาไม่ดี ตระกูลไม่ดี เหตุไรบุตรธิดาและคนในตระกูลจึงต้องได้รับอัปยศด้วยหรือเมื่อมารดาบิดามั่งมีหรือยากจน บุตรธิดาจึงพลอยมั่งมีหรือยากจนไปด้วย ความไม่บริสุทธิ์อาจป้ายสีกันได้ ความบริสุทธิ์ อาจประกาศยกให้กันได้
ถ้าเป็นดังที่ว่านี้ ก็น่าจะขัดแย้งกับพระพุทธภาษิตที่ว่า สุทธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย = ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้  ขออธิบายข้อความนี้ดังต่อไปนี้
ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน ใครอื่นจะทำอีกคนหนึ่งให้บริสุทธิ์ไม่ได้นั้นหมายความว่าบุคคลทำชั่วเองย่อมเศร้าหมองเอง ทำดีเองย่อมผ่องแผ้วเอง ทรงหมายถึงความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ชั้นใน ภายในความรู้สึกสำนึกของตน ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ที่คนอื่นถือว่าบริสุทธิ์หรือความเศร้าหมองท่คนอื่นเขาป้ายสีให้ สมมติว่าคนผู้หนึ่งฆ่าคนตาย แม้จะไม่มีใครรู้เห็นเขาผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ในข้อนี้ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่ได้ฆ่าใครแต่หลักฐานภายนอกผูกมัดเพราะถูกใส่ความ เขาต้องได้รับโทษทางกฎหมาย เช่น ถูกจำคุกหรือถูกปรับ คนทั้งหลายเห็นว่าเขาเป็นอาชญากรหรือฆาตกร แต่ในความเป็นจริงเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ความเป็นจริงกับปรากฏการณ์ภายนอก มิใช่จะตรงกันเสมอไปในกรณีดังกล่าวจะเห็นว่าความบริสุทธิ์หรืไม่บริสุทธิ์เป็นเรื่องเฉพาะตนจริง คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองหาได้ไม่ พระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกใส่ความเรื่องนางสุนทรีและนางจิญจมาณวิกาคนเชื่อไปก็มาก แต่ความบริสุทธิ์ยังเป็นของพระองค์อยู่ตลอดเวลา